บทที่ 3 งานประดิษฐ์กับการดำรงชีวิตประจำวัน


บทที่ 3 
งานประดิษฐ์กับการดำรงชีวิต ประจำวัน
วัตถุประสงค์
1.สามารถบอกวิธีการแกะสลักแครทเป็นรูปดอกไม้ได้
2.สามารถบอกความหมายของการแกะสลักได้
3.สามารถบอกอุปกรณ์การแกะสลักได้
หลักการแกะสลักผักและผลไม้

     การแกะสลักผักและผลไม้สด เป็นงานศิลปะประจำชาติไทยที่สืบเนื่องมาแต่โบราณ เป็นงานศิลปะที่จัดตกแต่งด้วยความตั้งใจ ใช้เวลา ฝีมือ ความรู้ความสามารถ ตลอดจนความชำนาญในการใช้ฝีมือและศิลปะ ดังนั้นผู้แกะสลักจะต้องรู้หลักในการแกะสลักผักและผลไม้ตลอดจนข้อมูลพื้นฐานอื่นๆเกี่ยวกับการแกะสลักผักและผลไม้

ความหมายของการแกะสลักผักและผลไม้
     การแกะสลักผักและผลไม้เป็นงานประดิษฐ์ผักหรือผลไม้ เป็นรูปทรง หรือรูปลายต่างๆตามที่ออกแบบไว้ได้อย่างประณีตสวยงาม โดยใช้เครื่องมือที่มีความแหลมคมตัด เกลา ปาด กรีด คว้าน เซาะ แกะ และทำให้เกิดรูปทรงและรูปร่างต่างๆที่ต้องการ แต่การแกะสลักผักและผลไม้ในที่นี้มุ่งเน้นเฉพาะการนำไปใช้ที่เกี่ยวกับงานอาหาร และการนำไปตกแต่งสถานที่ต่างๆ

คุณค่าของการแกะสลักผักและผลไม้
   การแกะสลักผักและผลไม้ เป็นการสร้างสรรค์ผักและผลไม้สดให้เป็นรูปลักษณะใหม่ที่สวยงามอ่อนช้อย ถือเป็นงานช่างชั้นนสูง เพราะต้องแกะสลักแข่งกับเวลาเนื่องจากผักผลไม้สดเป็นวัตถุที่ไม่คงทนถาวร ผู้แกะสลักต้องเก่ง ทำงานได้รวดเร็ว และมีฝีมือประณีต ผลงานที่ได้สามารถนำไป ใช้ให้เกิดประโยชน์มากมายทั้งด้านการรับประทาน การจัดตกแต่งอาหาร การจัดตกแต่งสถานที่ งานพระราชพิธี และงานพิธีต่างๆสามารถนำความรู้ความชำนาญในการแกะสลักผักและผลไม้ไปประกอบอาชีพได้ นอกจากนี้การแกะสลักผักและผลไม้ยังเป็นการฝึกทักษะให้มีความสัมพันธระหว่างมือกับสมอง ฝึกจิตให้นิ่ง เป็นการฝึกสมาธิอย่างดีเลิศ ฝึกฝีมือให้เกิดความชำนาญเป็นพิเศษ ฝึกให้มีความมานะ อดทน ใจเย็น รู้จักการตกแต่งและมีความคิดสร้างสรรค์  ดังนั้น การแกะสลักผักและผลไม้นอก จากจะเป็นงานศิลปะของไทยที่มีคุณค่าทั้งในชีวิตประจำวันและในโอกาสพิเศษแล้วยังเป็นการอนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของไทยอีกด้วย

ประเภทและชนิดของการแกะสลักผักและผลไม้
การแกะสลักผักและผลไม้สามารถแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆตามลักษณะงานที่นำไปใช้ได้ 3 ประเภทคือ
    1.แกะสลักผักและผลไม้เพื่อจัดเลี้ยง 
    2.แกะสลักผักและผลไม้เพื่อประดิษฐ์ตกแต่งจานอาหาร 
    3.แกะสลักผักและผลไม้เพื่อตกแต่งโต๊ะอาหาร

หลักการจัดผักและผลไม้แกะสลักเพื่อตกแต่งบนโต๊ะอาหาร
     การจัดผักและผลไม้แกะสลักเพื่อการตกแต่งโต๊ะอาหารให้สวยงาม แปลกตา น่าสนใจนั้นสามารถทำได้หลายรูปแบบโดยมีแนวทางหรือหลักการจัดดังนี้
   1. วางแผนกำหนดรูปแบบที่จะจัดให้เหมาะสมกับลักษณะของงานและสถานที่
   2. ใช้หลักศิลปะช่วยในการออกแบบและวาดภาพ เค้าโครงของงานที่จะจัด
   3. วางแผนเตรียมวัสดุและอุปกรณ์ให้เหมาะสม มีความคงทน แข็งแรง โดยคำนึงถึงฤดูกาล งบประมาณ และเวลา
   4. กำหนดปริมาณของวัสดุและอุปกรณ์ที่จะใช้
   5. จัดด้วยความรวดเร็วเพื่อประหยัดเวลาและแรงงาน 
   6. การจัดไม่ควรให้รกรุงรัง และควรคำนึงถึงความสะอาดเรียบร้อย

การเลือกภาชนะในการจัดผักและผลไม้
   1. ภาชนะที่ประดิษฐ์ขึ้น เช่น ถาด จาน พาน แจกันกระเช้า อาจประดิษฐ์จากใบตอง ใบลาน ใบมะพร้าว ให้เป็นภาชนะวงกลม วงรี สี่เหลี่ยม ห้าเหลี่ยม หกเหลี่ยม โดยการพับกลีบลักษณะต่างๆเช่นกลีบกุหลาบกลีบผีเสื้อ หักคอม้า สัตตบงกช ภาชนะที่ประดิษฐ์ขึ้นนี้เป็นงานศิลปะของชนชาติไทยที่ประณีตบรรจง แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทย
   2.เครื่องจักสาน เช่น ถาด โตก กระจาด กระเช้า ทำจากหวายหรือไม้ไผ่ ให้ความรู้สึกที่นุ่มนวล ประณีต เป็นธรรมชาติ
   3. ภาชนะไม้ อาจทำจากไม้สัก หรือไม้ที่ลงรักประดิษฐ์ด้วยกระจกสี ให้ความรู้สึกที่หนักแน่น สำหรับภาชนะไม้ตกแต่งด้วยกระจกอาจจะดูหรูหรา เด่นสะดุดตาสวยงาม
   4. เครื่องแก้ว เช่น จาน พาน โถ อ่าง สร้างความเด่นหรูหรา สดใส แพรวพราว
   5. เครื่องเงิน เครื่องทอง เช่น จาน พาน โตก ภาชนะเงินส่วนมากจะมีลายนูนละเอียด หรูหรา 
   6. เครื่องทองเหลือง เช่น ถาด โตก ภาชนะทองเหลืองจะหนักแน่น
   7. กระจกรูปร่างต่างๆ  อาจไม่มีขอบหรือมีขอบที่ทำจากไม้ ทองเหลือง หรือพลาสติก ใช้จัดผัก ผลไม้แกะสลัก ให้ความรู้สึกหรูหรา สดใส ภาพผัก ผลไม้ที่จะจัดสะท้อนขึ้นมาทำให้ผลงานที่จัดดูสวยงาม และมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น
หลักการเลือกใช้ภาชนะดังกล่าวมาแล้วนี้ควรพิจารณาถึงความเหมาะสมต่างๆดังนี้
   1. งานที่จะจัดเป็นพิธีหรือไม่ เป็นงานพิเศษหรืองานธรรมดา 
   2. สถานที่จัดแล้วนำไปจัดในสถานที่เช่นไร เช่น ภายในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ ห้องพัดลม หรือนอกอาคาร
   3. ขนาดของภาชนะ ควรให้เหมาะสมกับจำนวนของผู้บริโภคและสถานที่ที่จัด 
   4. ดูสิ่งแวดล้อมภายในงาน เช่น ภาชนะที่ใช้จัดอาหารอย่างอื่นว่าเป็นภาชนะประเภทใดควรจัดภาชนะให้เหมาะสม

ภาพที่ 1 แกะสลักผลไม้

อุปกรณ์เครื่องใช้ในการแกะสลักผักและผลไม้
 1.มีดแกะสลัก


          มีดแกะสลักมีลักษณะปลายเรียวแหลม คมบาง ทำด้วยแสตนเลสหรือเหล็กไม่เป็นสนิม หรือทองเหลือง เพื่อช่วยไม่ให้ผักและผลไม้มีสีดำ ความยาวของตัวมีดส่วนที่คมไม่ควรเกิน 2 – 3 นิ้ว ความกว้างของใบมีดส่วนที่กว้างที่สุดประมาณ1/3 – 1/2 นิ้ว ด้ามมีดไม่ควรมีน้ำหนักมากเพราะจะทำให้เมื่อยเร็ว และแกะสลักได้ช้า และไม่ควรเป็นมีดรูปโค้ง จะทำให้แกะสลักได้ยาก มีดแกะสลักเล่มเดียวสามารถแกะสลักผักและผลไม้ได้หลายแบบ หลายชนิดตามความต้องการ โดยไม่ต้องใช้เครื่องมืออย่างอื่นเลย จึงต้องเก็บรักษาปลายมีดให้แหลมคมเสมอก่อน ใช้ควรตรวจดูและและหมั่นลับมีดให้คมอยู่เสมอ หลังการใช้งานเสร็จทุกครั้งควรล้างเช็ดให้แห้งเก็บให้เรียบร้อย มีดแกะสลักใช้สำหรับคว้าน แกะ สลัก เซาะ ให้เป็นร่อง และใช้ในการตัดเส้นลวดลาย ต่าง ๆ 
          
  
2. มีดปอกและมีดหั่น

          
          มีดปอกและมีดหั่น เป็นมีดบางใช้สำหรับปอก ตัด หั่นและเกลา ผัก ผลไม้ ซึ่งจะมีรูปร่างต่างๆกัน วัสดุที่ใช้ควรเป็น สแตนแลสหรือทองเหลือง เพื่อไม่ให้ผักหรือผลไม้ดำ ควรมีความคม มีดปอกควรมีความยาวของใบมีด 4 - 5 นิ้ว และมีดหั่นควรมีความยาวของใบมีด 5 - 7 นิ้ว

3. มีดปอกสองคม

     มีดปอกสองคม ใช้สำหรับปอกเปลือกผักและผลไม้ ควรเลือกขนาดให้เหมาะสมกับผักและผลไม้ที่จะใช้และที่ตักทรงกลม เป็นที่ตักผลไม้ มีด้ามจับ
4หินลับมีด

          ใช้สำหรับลับมีดให้คมอยู่ตลอดเวลา จะเป็นก้อนใหญ่หรือเล็กก็ได้ หรือจะเป็นรูปแบบต่าง ๆ แล้วแต่ผู้ผลิตจะผลิต แต่ต้องเป็นหินที่มีเนื้อละเอียด หากมีเนื้อหินหยาบจะทำให้เสียเนื้อมีด ดังนั้น เมื่อจะใช้ลับมีดแกะสลัก หินลับมีดจึงควรเลือกชนิดหินละเอียด เพื่อจะได้ไม่ทำให้มีดสึกกร่อนเร็ว และมีดมีความคมสม่ำเสมอ 
   
5เขียง

          ใช้สำหรับรองรับมีด เมื่อปอกหรือหั่นผักและผลไม้ จะเป็นเขียงไม้หรือพลาสติกก็ได้ แต่ควรจะเป็นเขียงที่สะอาด และไม่มีกลิ่น และควรล้างทำความสะอาดทุกครั้งหลังการใช้งาน เพื่อไม่ให้มีเชื้อราติดอยู่บนเขียง

6อ่างผสมหรืออ่างใส่น้ำ

          ใช้สำหรับใส่น้ำล้างผักและผลไม้ที่จะแกะสลัก หรือสำหรับใส่ผลไม้ที่ยังไม่ได้แกะสลัก ซึ่งมีหลายรูปแบบและขนาดแตกต่างกัน แล้วแต่จะเลือกใช้ให้เหมาะสมกับงาน

7. ถาด

          ใช้สำหรับใส่ผักและผลไม้ที่ยังไม่ได้แกะสลักหรือแกะสลักแล้ว หรือใช้สำหรับรองเศษผักและ ผลไม้ที่แกะสลักก่อนจะใส่ถังขยะก็ได้ มีรูปแบบต่าง ๆ กันแล้วแต่ผู้ผลิต
   
8ผ้าเช็ดทำความสะอาด

          ผ้าขนหนู หรือผ้าฝ้าย ตัดเย็บให้มีขนาดเหมาะสมกับการใช้งานใช้สำหรับเช็ดมือ เช็ดโต๊ะ อุปกรณ์ หรือภาชนะต่าง ๆ ในขณะแกะสลัก  ควรเลือกที่ซับน้ำได้ดี ผ้าขาวบางใช้สำหรับคลุมผักและผลไม้ที่แกะสลักแล้วเพื่อกันลมและแมลง
9ที่ตักผลไม้ทรงกลม


         
   ใช้ตักผลไม้ที่ให้ได้ทรงกลม หรือ ใช้ตักผลไม้ออกให้เหลือเปลือกนำไปใช้เป็นประโยชน์ เช่น    ตักเนื้อแดงแตงโมออกเอาเอาเปลือกแตงโมไปทำอ่างที่ใส่พั้นช์ และเนื้อแตงโมกลมจัดเป็นผลไม้เสิร์ฟ

ขั้นตอนการแกะสลักแครท เป็นรูปดอกไม้

อุปกรณ์
1. แครอท 1 ลูก
2. มีดแกะสลัก
3. มีดปลอกผลไม้

ขั้นตอน
1. หั่นแครอทตามขนาดดอกที่ต้องการ กรณีต้องการดอกใหญ่ให้หั่นช่วงบนของหัวแครอท และหั่นออกประมาณ 1  เซนติเมตร ครึ่ง


2. ปลอกเปลือกแครอทออกและเกลาผิวแครอทให้เรียบ
3. แบ่งออกเป็น  8  ส่วนเท่ากันแล้วทำเครื่องหมาย

4. ลงมีดกรีดให้เป็นวงกลม เล็ก และใหญ่ ถัดกันไปตามภาพ
5. คว้านเนื้อระหว่าง วงกลมเล็ก และวงกลมใหญ่


6. ทำร่องกลางวงกลมเพื่อทำเป็นเกษรดอก โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนเท่ากัน

7. ลงมีดตามร่องที่ทำเครื่องหมายไว้ในข้างต้น

8. เกลาช่วงร่องให้ดูมนโค้ง และผิวดูเรียบ


อ้างอิงหนังสือ
นางสาวสุชาดา วราหพันธ์. (2557).  งานประดิษฐ์กับการดำรงชีวิตประจำวัน: งานประดิษฐ์. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: บริษัท สำนักพิมพ์เอมพันธ์ จำกัด.

อ้างอิงเว็บอุปกรณ์
http://bbt.ac.th/carved/tool/tool.htm

อ้างอิงขั้นตอนการแกะสลักแครท
http://www.nuihome.com/2008/09/10/แกะสลักแครอท-เป็นรูปดอ/

อ้างอิงภาพที่ 1
http://poope34.blogspot.com/2016/09/blog-post_26.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น