บทที่ 5 บรรจุภัณฑ์สำหรับงานประดิษฐ์

บทที่ 5
บรรจุภัณฑ์สำหรับงานประดิษฐ์
วัตถุประสงค์
1.สามารถรู้ประเภทงานไหนใส่บรรจุภัณฑ์แบบใด
2.สามารถรู้ประเภทของบรรจุภัณฑ์
3.สามารถบอกคุณสมบัติของบรรจุภัณฑ์งานประดิษฐ์
      
          บรรจุภัณฑ์เป็นสิ่งที่ใช้บรรจุหรือห่อหุ้ม ผลิตภัณฑ์ให้ปลอดภัยสามารถรักษาคุณภาพ ผลิตภัณฑ์ให้คงสภาพ ทั้งยังเอื้ออำนวยต่อการขนส่งและสามารถเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ ดังนั้นการออกแบบบรรจุภัณฑ์จึงเป็นต้องช่วยส่งเสริมการขายได้อีกหนทางหนึ่งที่สามารถดึงดูดความสนใจและช่วยในการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ได้ง่ายขึ้น

การออกแบบบรรจุภัณฑ์
    งานประดิษฐ์มีหลายรูปแบบหลายประเภทแตกต่างกันไป ดังนั้น การออกแบบบรรจุภัณฑ์จึงต้องพัฒนาสิ่งต่อไปนี้  
1. ประเภทของผลิตภัณฑ์ โครงสร้าง ขนาด รูปทรง วัสดุที่ใช้มีความทนทานเปราะบางแตกหักยากหรือง่าย การออกแบบต้องสามารถคุ้มครองผลิตภัณฑ์จากการขนส่งและการเก็บรักษาไม่ให้เสื่อมเสียได้
2. กลุ่มเป้าหมาย พิจารณาว่าผลิตภัณฑ์ที่ใช้บรรจุภัณฑ์จำหน่ายให้กลุ่มใด เช่น วัยทำงานวัยผู้ใหญ่ วัยรุ่น วัยเด็ก การออกแบบบรรจุภัณฑ์นอกจากจะเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ที่สวยงามแล้วยังต้องอยู่ในแนวทางที่เหมาะกับผู้ใช้ มีลักษณะเฉพาะกลุ่ม จะสร้างความสนใจและดึงดูดต่อกลุ่มเป้าหมายได้อย่างง่ายและชัดเจน
3. การอำนวยความสะดวก บรรจุภัณฑ์ต้องมีขนาดพอเหมาะกับผลิตภัณฑ์สะดวกต่อการจับ ถือ หิ้ว ปลอดภัย และสะดวกต่อการขนส่ง สามารถใช้ประโยชน์ได้อีกไม่เกิดการสูญเปล่า เช่น บรรจุประเภทถุงผ้า
4. การเลือกใช้วัสดุที่เหมาะกับหน้าที่ การใช้สอยวัสดุที่มีความแข็งแรงทนทานต่อการเคลื่อนย้าย น้ำหนักเบา ผลิตง่าย สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
5. สามารถดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค ซึ่งจากองค์กรประกอบหลายๆ ด้านของบรรจุภัณฑ์ เช่นขนาด รูปทรง สี วัสดุ ข้อความ ตัวอักษรบอกวิธีใช้ การรักษา ผู้ออกแบบจะต้องสร้างรูปลักษณะบรรจุภัณฑ์ที่สามารถเกิดผลต่อจิตใจและสายตา
6 ความต้องการของตลาด การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ดีต้องมีความสอดคล้องกับความต้องการของตลาด สามารถดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค และเหมาะสมกับโอกาสใช้สอย เช่น เทศกาลปีใหม่ ของฝาก ของขวัญ

ประเภทบรรจุภัณฑ์
บรรจุภัณฑ์จำแนกตามวัสดุที่ใช้ผลิตได้ 4 ประเภท
1. บรรจุภัณฑ์จากเยื่อกระดาษ กรรมวิธีการผลิตจากวัสดุเยื่อกระดาษสามารถออกแบบได้หลายรูปแบบและให้สีสันลวดลายได้สวยงามเป็นที่นิยมใช้กันแพร่หลายเช่นถุงกระดาษกล่องลังเป็นต้น
ข้อดี
 1. สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 
 2. น้ำหนักเบา สะดวกในการพกพา 
 3. พิมพ์ตกแต่งลวดลายให้สวยงามได้ง่าย
 4. ประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง
ข้อเสีย
 1.ไม่ทนต่อน้ำหนักและความชื้น 
 2. ติดไฟง่าย 
 3. ฉีกขาดง่าย ไม่ทนทาน
 4. ถ้าอยู่ในความชื้นเกิดเชื้อราได้ง่าย

ภาพที่1 กล่อง

2. บรรจุภัณฑ์จากพลาสติก เป็นวัสดุที่สังเคราะห์ขึ้นมาประกอบด้วยธาตุต่างๆหลายชนิด เช่น คาร์บอน ออกซิเจน ไฮโดรเจนไนโตรเจน คลอรีน การผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์มีหลายรูปแบบ เช่นกล่อง ซอง ถาด ถ้วย ขวดเป็นต้น
ข้อดี
 1. มีน้ำหนักเบา แข็งแรงกว่ากระดาษ 
 2. ทนต่อสารเคมี 
 3. ป้องกันการซึมผ่านของอากาศได้  
 4. พลาสติกบางชนิดเป็นฉนวนกันความร้อนได้ 
 5. ช่วยยืดอายุผลิตภัณฑ์ได้เพราะสามารถต่อต้านการทำลายของเชื้อราและแบคทีเรีย 
ข้อเสีย 
 1. ยากแก่การทำลายและย่อยสลาย 
 2. ละลายเมื่อถูกความร้อน
 3. ก่อให้เกิดปัญหาสภาพแวดล้อมถูกทำลาย

ภาพที่ 2 พลาสติก

3.บรรจุภัณฑ์จากแก้ว แก้วผลิตขึ้นจากการหลอมเหลวรวมกันระหว่าง หินปูน โซดา ซิริกา อะลูมิเนียมโพแทสเซียม และแมกนีเซียมออกไซด์ นำไปขึ้นรูปตามแบบออกเป็นภาชนะบรรจุ เช่น ขวด แก้วน้ำ  จาม ชาม เป็นต้น
ข้อดี
 1. ทนความร้อน 
 2. สวยงามและสามารถทำสิ่งต่างๆได้ 
 3. นำกลับมาใช้ได้อีก
 4.ไม่สร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม
ข้อเสีย
 1. มีน้ำหนักมาก แตกหักง่าย
 2. ต้นทุนการผลิตสูงจึงมีราคาแพง 
 3. ไม่สะดวกต่อการพกพา
 4. มีข้อจำกัดในการออกแบบบรรจุภัณฑ์

ภาพที่ 3 แก้ว

4 บรรจุภัณฑ์จากโลหะ โลหะในงานอุตสาหกรรมปัจจุบันนิยมใช้ 2 ชนิด คือ เหล็กเคลือบดีบุก และอะลูมิเนียม รวมทั้งเหลวอะลูมิเนียมที่นำมาผลิตเป็นวัสดุบรรจุภัณฑ์อ่อนนุ่ม เช่น กระป๋องอะลูมิเนียมบรรจุน้ำอัดลมและเครื่องดื่มประเภทต่างๆ
ข้อดี
 1. แข็งแรงทนทาน 
 2. นำมาหลอมใหม่ได้อีก 
 3. ป้องกันการซึมผ่านของอากาศ แสง กลิ่น รสได้ดี  
 4. สามารถฆ่าเชื้อด้วยความร้อน
ข้อเสีย 
 1.มีน้ำหนักมากกว่ากระดาษและพลาสติก 
 2. ต้นทุนสูง
 3. บางชนิดเกิดการกัดกร่อนเป็นสนิมง่าย
 4. มีกระบวนการผลิตยุ่งยาก
 5. มีจุดอ่อนตรงรอยต่อหรือตรงฝาปิด

ภาพที่ 4 โลหะ 

คุณสมบัติของบรรจุภัณฑ์งานประดิษฐ์
      งานประดิษฐ์มีความแตกต่างกันทั้งด้านรูปแบบวัสดุที่ใช้ผลิต ดังนั้นบรรจุภัณฑ์สำหรับงานประดิษฐ์จึงควรมีลักษณะที่สามารถป้องกันสิ่งของภายในได้ดี จึงควรมีคุณสมบัติดังนี้
 1. น้ำหนักเบา สามารถใช้มือหยิบถือได้ง่าย
 2. ใช้งานสะดวก กะทัดรัดไม่ใหญ่เทอะทะ และจัดส่งง่าย
 3. มีวัสดุกันการแตก กันความเสียหายของชิ้นงาน 
 4. บรรจุภัณฑ์ที่ห่อหุ้มผลิตภัณฑ์ ใช้วัสดุที่มีความอ่อนนุ่ม ไม่ทำให้เกิดรอยขีดข่วนจากการห่อหุ้มสินค้า 
 5. สามารถทนต่อแรงกระแทก แข็งแรงทนทาน
 6. สามารถป้องกันผลิตที่อยู่ภายในไม่ให้เสียหายและรักษาคุณภาพผลิตภัณฑ์ไว้ได้เช่นเดิม
 7. ให้ข้อมูลของสินค้าที่ห่อหุ้มภายในชัดเจน 
 8. มีเอกลักษณ์เฉพาะที่โดดเด่นสวยงาม ดึงดูดสายตาผู้บริโภคให้เกิดแรงจูงใจในการนำไปใช้

การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์สำหรับงานประดิษฐ์
บรรจุภัณฑ์มีหลายประเภทแต่ที่ใช้กับงานประดิษฐ์ส่วนใหญ่จะมีอยู่ 2 ประเภทคือ 
1. บรรจุภัณฑ์จากกระดาษ
2. บรรจุภัณฑ์จากพลาสติก
บรรจุภัณฑ์กระดาษที่ใช้ในงานประดิษฐ์
การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ในงานประดิษฐ์ขึ้นอยู่กับประเภทของผลิตภัณฑ์ รูปแบบและคุณสมบัติ บรรจุภัณฑ์กระดาษที่ใช้กันมาแบ่งประเภทได้ดังนี้
1. กล่องกระดาษแบบคงรูป กล่องลักษณะนี้มีฝาเคลือบกล่อง ใช้งานได้นาน มีการขึ้นรูปกล่องที่แข็งแรง การออกแบบกล่องกระดาษแบบคงรูปที่สวยงามจะช่วยเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ได้ กล่องกระดาษชนิดนี้นิยมใช้งานประดิษฐ์ที่เกิดการแตกหักง่ายหรืองานประดิษฐ์ที่บอบบาง เช่น ดอกไม้ประดิษฐ์เป็นต้น


ภาพที่ 5 กล่องกระดาษแบบคงรูป

2. กล่องกระดาษแข็งพับได้ มีลักษณะแบบแผ่นแบนราบ มีตะเข็บข้าง เวลาจะใช้คลี่ออกขึ้นรูปกล่อง ทากาวด้านข้างตะเข็บสำหรับใส่ผลิตภัณฑ์งานประดิษฐ์ที่ไม่แตกหัก เช่น งานประเภทผ้า เป็นต้น


ภาพที่ 6 กล่องกระดาษแข็งพับได้

3. กล่องกระดาษลูกฟูก ตัวแผ่นกระดาษปะด้านหน้า 2 แผ่น มีลอนกระดาษลูกฟูกอยู่ตรงกลาง ทำให้มีความแข็งแรง ป้องกันไม่ให้ ผลิตภัณฑ์ได้รับความเสียหายในระหว่างการขนส่ง การจัดเก็บสามารถวางซ้อนกันได้ ในงานประดิษฐ์เหมาะที่จะบรรจุผลิตภัณฑ์ทุกประเภทในการจัดส่งและเก็บผลิตภัณฑ์

ภาพที่ 7 กล่องกระดาษลูกฟูก

4. ถุงกระดาษ ตามปกติทั่วไปจะใช้กระดาษเหนียวสีน้ำตาล เหมาะสำหรับใช้งานกับผลิตภัณฑ์งานประดิษฐ์ที่ต้องการความสวยงาม สามารถพิมพ์ลายให้สีสันที่สวยงาม แบ่งเป็น 2 ประเภทได้แก่ 
    4.1 ถุงกระดาษชั้นเดียว เหมาะกับการบรรจุผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำหนักเบาเช่น เสื้อผ้า กระเป๋า งานประดิษฐ์ชิ้นเล็กๆ เป็นต้น 
    4.2 ถุงกระดาษหลายชั้น ใช้สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำหนัก เช่น กรอบรูป โคมไฟตั้งโต๊ะขนาดเล็ก เป็นต้น

ภาพที่ 8 ถุงกระดาษ

บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ในงานประดิษฐ์
     บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ในงานประดิษฐ์มีไม่มากส่วนใหญ่ออกมาในรูปแบบของการห่อหุ้มผลิตภัณฑ์งานประดิษฐ์
1. บรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อนตัว หมายถึง บรรจุภัณฑ์ที่ทำจาก พลาสติกชนิดเดียวกันหรือหลายชนิดรวมกัน และสามารถเปลี่ยนรูปแบบได้ เช่น ถุงพลาสติก ฟิล์มพลาสติกใช้กับงานดอกไม้ทุกชนิด 
2. บรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดกึ่งอ่อนกึ่งแข็ง หมายถึง บรรจุภัณฑ์ที่มีการขึ้นรูปเป็นภาชนะบรรจุ มีลักษณะยืดหยุ่นได้แต่คงรูปเช่นถ้วยโฟม ถาดโฟม ใช้กับงานประดิษฐ์ที่ต้องการรักษาสภาพของรูปทรง และโครงสร้างของรูปทรงที่แข็งแรงแต่เปราะบาง
3. บรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดคงรูป  หมายถึง บรรจุภัณฑ์ที่มีการขึ้นรูปภาชนะรูปแบบต่างๆ ที่มีลักษณะแข็งและคงรูป เช่น กล่อง ลัง ถาดถ้วย ใช้กับงานประดิษฐ์ที่บอบช้ำง่าย เช่น ดอกไม้ประดิษฐ์จากดินงานประดิษฐ์ที่แตกง่าย 
4. บรรจุภัณฑ์แบบแผ่นพลาสติกอัดอากาศ แผ่นพลาสติกอัดอากาศผลิตจากแผ่นฟิล์มโพลีเอทิลีน 2 แผ่นประกบกัน โดยทำให้เกิดมีอากาศเล็กๆ ขึ้นระหว่างแผ่น โดยปกติวัสดุกันกระแทกชนิดนี้เหมาะกับผลิตภัณฑ์ที่มีความเปราะบางแตกหักง่าย เช่น เซรามิก งานประดิษฐ์ประเภทแก้ว แผ่นพลาสติกอัดอากาศเป็นวัสดุที่รับแรงกระแทกจากการสั่นสะเทือนได้ดี สามารถนำเก็บมาใช้ใหม่ได้แต่ไม่ดูดซับความชื้น มีหลายรูปแบบ เช่น ในรูปแบบถุง เป็นแผ่นใช้ห่อหุ้มผลิตภัณฑ์

ภาพที่9 แอร์บับเบิ้ล

ข้อควรระวังในการใช้บรรจุภัณฑ์งานประดิษฐ์
        เนื่องจากผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ของงานประดิษฐ์ทำมาจากกระดาษและพลาสติกซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพอนามัยของผู้บริโภคจึงควรระวังในการใช้บรรจุภัณฑ์ดังนี้
 1. ไม่ควรเก็บบรรจุภัณฑ์ประเภทกระดาษไว้ในที่ชื้น เพราะจะทำให้เกิดเชื้อรา
 2. บรรจุภัณฑ์ประเภทกระดาษและพลาสติก เป็นวัสดุที่ติดไฟง่ายจึงควรเก็บไว้ให้ห่างจากฝืนไฟ 
 3. บรรจุภัณฑ์ชนิดพลาสติกอาจทำให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ได้ เนื่องจากการเคลื่อนย้ายอนุภาคหรือโมเลกุลจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกและมีความเป็นพิษที่สามารถก่อให้เกิดมะเร็งหรือมีความระคายเคืองต่อผิวหนัง เมื่อถูกความร้อนจึงไม่ควรนำมาใช้กับอาหาร


อ้างอิงหนังสือ
นางสาวสุชาดา วราหพันธ์.  (2557).  ผลิตภัณฑ์งานประดิษฐ์:  งานประดิษฐ์.  พิมพ์ครั้งที่ 1.  กรุงเทพมหานคร:  บริษัท สำนักพิมพ์เอมพันธ์ จำกัด.

อ้างอิงภาพที่ 1

อ้างอิงภาพที่ 2

อ้างอิงภาพที่ 3

อ้างอิงภาพที่ 4

อ้างอิงภาพที่ 5

อ้างอิงภาพที่ 6

อ้างอิงภาพที่ 7

อ้างอิงภาพที่ 8

อ้างอิงภาพที่ 9







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น